1 ตอน ครบรอบ 50 ปีภาคีนักประพันธ์ฯ
โดย pynox
ปากกาคมกว่าดาบ
งานเขียนที่ไม่เสร็จเป็นภัยต่อมนุษยชาติ
— นายกรัฐมนตรีคนที่ 32 แห่งราชอาณาจักรที่ 13
จากสหรัฐที่ 3:
เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของคำกล่าวอันโด่งดังที่เหมือนได้สร้างกรอบใหม่ในการแบ่งยุคประวัติศาสตร์ออกเป็น ก่อนกับหลัง ‘ภาคีนักประพันธ์พึงวรและบทบัญญัติ’ หรือที่พวกเราซึ่งยังเหลือสามัญสำนึกที่ภาครัฐมาพรากไปไม่ได้เรียกกันว่า ‘ยุคผัดวัน’ กับ ‘ยุคร้อยแปดวัน’ มาดูความเข้าใจผิดๆ ตลอด 50 ปีกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1. เดิมกำหนดระยะเขียนงานไว้หนึ่งร้อยแปดวัน
X ตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ปิศาจอักษรในปี 1905 นักวิจัยทั่วโลกพยายามหาคำตอบเพื่อป้องกันปรากฏการณ์ดังกล่าว ไม่เคยมีประกาศระยะเขียนงานที่ปลอดภัยอย่างเป็นทางการมาจนถึงปี 1920 โดยกลุ่มนักวิจัยไร้พรมแดนที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนั้น ‘แล็บสังคายนา’ (MYTHSORTED) ว่าระยะที่ยาวนานที่สุดและปลอดภัยที่สุดสำหรับเขียนงานโดยไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ปิศาจอักษร คือ 90 วัน[1] และไม่เคยลดลงหรือเพิ่มขึ้นเลยนับแต่นั้นมา คำเรียกกันว่ายุค 108 วัน มีที่มาว่า เพราะก่อนจะมีการจัดตั้งภาคีนักประพันธ์พึงวรขึ้นมา นักเขียนในยุคนั้นไม่สามารถเริ่มต้นเขียนงานเมื่อไรก็ได้ ทุกคนที่วางแผนจะเขียนงานใดๆ ต้องยื่นเอกสารขออนุญาตกับหน่วยงานรัฐในเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งระยะเวลาดำเนินการเฉลี่ยแล้วมักใช้เวลาประมาณ 14-18 วัน สมัยนั้นจึงรวมเวลาที่ต้องรอคำอนุมัติมาบวกไปกับระยะเวลา 90 วัน แล้วเรียกกันว่า ร้อยแปดวัน พอมีภาคีนักประพันธ์ฯ และการขึ้นทะเบียนนักเขียน รวมถึงมีลิปิกรตรวจสอบดูแลตลอดเวลา จึงไม่จำเป็นต้องทำเรื่องยื่นขอก่อนเริ่มต้นเขียนงานใดๆ อีก
คำวิจารณ์ว่าการใช้ ‘ยุคร้อยแปดวัน’ เริ่มต้นมาจากกลุ่มสนับสนุนภาคีนักประพันธ์ฯ[2][3][4][5] เพื่อย้ำว่าภาคีมีประโยชน์ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจน แต่ทางเราก็ไม่คิดว่าเกินจริง
2. ไม่เป็นนักเขียนขึ้นทะเบียนจะอิสระกว่า
X การลงทะเบียนจะคุ้มครองคุณจากทุกความรับผิดชอบ ถ้ามีปิศาจอักษรเกิดขึ้นจากงานของคุณ ไม่ว่าจะความเสียหายที่ปิศาจผลงานของคุณก่อ การถูกดำเนินคดี นักเขียนที่ขึ้นทะเบียนจะได้รับการยกเว้นทั้งหมด กลับกัน ไม่ว่าจะขึ้นทะเบียนหรือไม่ก็ตาม รัฐใช้เครือข่ายสอดส่องและติดตามการเคลื่อนไหวของข้อมูลที่มีลักษณะคล้ายงานเขียนโดยคร่าวอยู่แล้ว ความเป็นส่วนตัวไม่ใช่สิทธิพื้นฐานขนาดนั้น[7] มีแค่ความต่างระหว่างโดนสอดส่องผ่านๆ หรือโดนจับตาดูเป็นพิเศษ กรณีที่คุณจะไม่โดนสอดส่อง คือคุณเขียนงานลงกระดาษหรือพิมพ์ลงเครื่องพิมพ์ดีด และตัวคุณไม่ได้โดนจับตามองเป็นพิเศษถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจดอดเข้าบ้านเวลาคุณไม่อยู่ อันที่จริงอาจพูดได้ว่าถ้าคุณมีชื่อไปเข้าหูรัฐว่ามีผลงานเขียน แต่ตัวคุณไม่ได้ขึ้นทะเบียน นั่นอาจยิ่งทำให้คุณโดนหมายหัวเป็นพิเศษ การจะหาความเป็นส่วนตัวจากรัฐ ทางเราแนะนำหนทางอย่างเช่นการใช้ VPN ซึ่งหาอ่านแนะนำ VPN ไว้ใจได้จาก 8 VPN พัฒนาโดย 6 สันนิบาตไม่ยืนยันตัวตนจาก 38 ประเทศ
คุณอาจมองว่าย้อนแย้ง แต่เรื่องนี้ทางเรารับประกันได้ว่าสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มล้วนเป็นนักเขียนขึ้นทะเบียนกันทั้งสิ้น
3. ภาคีนักประพันธ์พึงวรเป็นหน่วยงานรัฐ ดังนั้นลิปิกรเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
X ภาคีนักประพันธ์พึงวรเป็นหน่วยงานอิสระขนาดใหญ่ที่เกิดจากการรวมตัวของนักวิจัยทั่วโลก และได้รับความช่วยเหลือให้ดำเนินการได้สะดวกโดยภาครัฐในหลายประเทศ รวมถึงมีรัฐของบางประเทศถูกผูกมัดด้วยข้อกฎหมายให้ช่วยเหลือ หรือมอบอำนาจดูแลปรากฏการณ์ปิศาจอักษรทั้งหมด หรือบางส่วน ให้แก่ทางภาคีนักประพันธ์ฯ ลิปิกรเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการภาคสนามและเจ้าหน้าที่เอกสารของภาคีโดยตรง รวมถึงการที่ภาคีไม่มีอำนาจบังคับให้ขึ้นทะเบียนนักเขียน พวกเขาถึงต้องใช้สิทธิประโยชน์มาล่อแทน
ลิปิกรภาคสนามเท่านั้นที่ถูกเรียกเป็นข้าราษฎการอย่างไม่เป็นทางการในวงกว้าง
ปัจจุบันไม่มีประเทศใดมีข้อกฎหมายมอบอำนาจให้ลิปิกรมีอำนาจจับกุม แต่ใน 120 ประเทศ ลิปิกรมีอำนาจยึดสิ่งของสื่อกลางที่เกี่ยวกับการเขียนของเจ้าของผลงานที่เกิดปรากฏการณ์ปิศาจอักษร[8] ใน 85 ประเทศให้อำนาจทำลายทิ้ง ประเทศอย่างสหรัฐที่ 1 กับที่ 3 มีข้อบังคับต้องคืน ‘ในสภาพที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้' ภายในเวลา 30 วัน ซึ่งถ้าคุณไม่ใช่นักเขียนขึ้นทะเบียน โอกาสที่ของเหล่านี้จะสูญหายและไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้จะสูงมาก และถึงเป็นนักเขียนขึ้นทะเบียน คุณอาจจะได้คอมพิวเตอร์ของคุณกลับมาในสภาพแหม่งๆ มีรายงานจำนวนมากตะหงิดใจว่าแล็ปท็อปที่ได้คืนมา โดนดัดแปลงเพื่อการสอดส่องข้อมูลตลอดเวลา ในปี 2016 ไรท์ เดฟบลากัน นักเขียนขึ้นทะเบียนสำรวจคอมพิวเตอร์ของตัวเองจนพบชิ้นส่วนที่ทางร้านคอมพิวเตอร์ยืนยันว่าไม่เคยใส่มาจากโรงงาน และทางร้านไม่มีชิ้นส่วนนี้เอาไว้ใส่ให้ลูกค้า[9] เดฟบลากันฟ้องร้องกับทางภาคีว่าไม่ทำตามเงื่อนไข การพิจารณาว่าทางภาคีได้คืนคอมพิวเตอร์ให้เดฟบลากันตรงตามเงื่อนไขบังคับทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนนักเขียนหรือไม่ ดำเนินอยู่ครึ่งปีเต็ม ก่อนจะลงเอยที่ศาลตัดสินว่าเป็นไปตามเงื่อนไขทุกประการ[10]
ทางเราได้แต่รายงานตามความเป็นจริงว่า การเป็นนักเขียนขึ้นทะเบียนไม่ช่วยอะไรในส่วนนี้ เดฟบลากันได้สิทธิประโยชน์การขึ้นทะเบียนแค่ว่า ทางภาคีที่เขาฟ้องต้องจ่ายเงินค่าทนายความให้เขา
4. ภาคีนักประพันธ์ฯ เก็บสะสมปิศาจอักษรไว้ให้รัฐนำไปใช้พัฒนาเป็นอาวุธ
✓ และ X จากที่ทราบกันว่าปัจจุบัน ภาคีนักประพันธ์ฯ มีลำนำและกระบวนการจับกุมปิศาจอักษรที่มีประสิทธิภาพสูง และปิศาจอักษรหลายตัวมีลักษณะปรากฏซ้ำ (trope) ซึ่งอิงจากเนื้อหางานเขียนที่ให้กำเนิดพวกมัน ทำให้ปิศาจอักษรประเภทนั้นมีพลังพิเศษเฉพาะของตัวเอง ในกลุ่มลิปิกรภาคสนาม กำหนดให้มีลิปิกรที่มีคุณสมบัติเป็น ‘ผู้บันทึก’ อย่างน้อยหนึ่งคนต่อกลุ่ม ผู้บันทึกคือลิปิกรที่มีคุณสมบัติใช้ลำนำและอุปกรณ์สื่อกลางในการเก็บปิศาจอักษร รวมถึงแปรสภาพปิศาจอักษรให้กลายเป็นอุปกรณ์ไปด้วย[11] ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวมักใช้ในฐานะอาวุธต่อไป แต่อาวุธปิศาจอักษรไม่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดใดๆ ได้[12] เสถียรภาพการใช้งานในมือแต่ละคนต่ำ นักวิจัยจำนวนมากปฏิเสธความเป็นไปได้ที่รัฐจะหาทางพัฒนาอาวุธจากปิศาจอักษร เพราะเปรียบเสมือนรัฐพยายามสร้างอาวุธสงครามจากแมวหรือนกอีมู ฟังดูพิเรนทร์และคาดไม่ถึงจนน่าจะต้องมีประโยชน์มากล้น รวมไปถึงความสำเร็จสูงเกินใครจินตนาการได้ แต่ไอเดียเช่นนี้ไปได้ไม่ไกลนัก อาวุธปิศาจอักษรอาจสะดวกสำหรับลิปิกรผู้บันทึก แต่สำหรับระดับกองทัพ อย่างไรลำนำก็พัฒนาได้อย่างไร้ขีดจำกัด และปรับให้ใช้ในหมู่มากได้ง่ายกว่า
5. ลิปิกรมีลำนำลี้ลับที่ไม่มีใครอื่นเข้าถึงได้อยู่
X ลิปิกรคือพวกเราคนธรรมดาที่มีลำนำที่ถนัดไม่ถนัดเหมือนกัน หลักสูตรฝึกลิปิกรมุ่งเน้นอบรมลำนำสำหรับการต่อสู้และป้องกันภัยจากปิศาจอักษรเป็นหลัก ดังนั้นไม่อาจเรียกได้ว่าไม่มีใครอื่นเข้าถึง แต่หมายถึงลำนำที่ไม่รู้จะเอาไปใช้ในโอกาสอะไรนอกจากปราบปิศาจอักษรมากกว่า
6. ภาคีนักประพันธ์ฯ มีเงินจากรัฐสนับสนุนแลกกับการสอดส่องพลเรือน
X รัฐไม่ได้ใช้ภาคีนักประพันธ์ฯ ในการสอดส่องความเป็นส่วนตัวของพลเรือน และคาดว่าทางภาคีเองก็ไม่ได้พึ่งรัฐในการทำเช่นเดียวกัน เงินทุนของภาคีนี้ไม่ว่าจะในประเทศใดล้วนมาจากเงินที่หมุนวนอยู่มหาศาลในวงการเขียนและสิ่งพิมพ์[13] ซึ่งถ้าคุณคิดว่าเงินจากผลงานนักเขียนที่ไม่ขึ้นทะเบียนไม่เข้ากระเป๋าภาคีไหนเลย คุณเข้าใจผิด ทางเราพยายามแล้ว สุดท้ายก็ลงเอยที่อ้อมแอ้มกันว่าศัตรูของพวกเราคือรัฐ ไม่ใช่ภาคีนักประพันธ์ฯ แต่ภาคีนั่นก็ไม่ใช่มิตรหรอก ถ้าคุณมีเพื่อนที่ยึดคอมพิวเตอร์คุณไปเป็นเดือนๆ กระเหี้ยกระหือรือไล่ลบทุกเศษเสี้ยวข้อมูลที่เกี่ยวกับนิยายที่คุณเขียนไม่เสร็จออกไปจากทุกอณูอินเตอร์เน็ต คุณคงเลิกคบเพื่อนคนนั้นไปนานแล้ว
7. ปรากฏการณ์ปิศาจอักษรเกิดจากเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ไอ้งั่งที่ไหนสักคนพยายามสร้างลำนำที่ทำให้นิยายเขียนตัวเอง แล้วดันทำพลาด
ทุกวันนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าปรากฏการณ์ปิศาจอักษรเกิดจากอะไร[14][15][16][17][18][19][20]
8. อายุขั้นต่ำของผู้เขียนที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปิศาจอักษรลดลงทุกปี
X ผู้เขียนอายุน้อยที่สุดที่เขียนงานไม่เสร็จแล้วเกิดปรากฏการณ์ปิศาจอักษรคือ 19 ปี และข้อมูลเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 1910[21] ทางเราทราบดีว่ามีข่าวลือมากมาย เช่นว่าเกิดปรากฏการณ์ปิศาจอักษรจากงานเขียนไม่เสร็จของเด็ก 17 ปีบ้าง 15 ปีบ้าง แต่ไม่มีเอกสารยืนยันหรือพยานอย่างเป็นทางการ แต่ขอให้ไว้วางใจว่าทางเราเองก็กำลังสืบหาข้อมูลนี้กันอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยของงานเขียนและอารยธรรมมนุษย์ รวมไปถึงเพื่อเข้าใจจุดยืนที่แท้จริงของภาคีนักประพันธ์พึงวรและบทบัญญัติ
สันนิบาตนักประพันธ์พึงทุบให้ความสำคัญแก่การคืนอิสรภาพในการดองงานให้แก่นักเขียนทั่วโลกเป็นอย่างมาก
เสวนา: ค่านิยมจากการล่าอาณานิคมเกี่ยวกับการใช้ไม้กายสิทธิ์ในพิธีการ…
ทำไมจึงควรเป็นนักเขียนขึ้นทะเบียน…
แนวการสอบสำหรับเป็นนักเขียนขึ้นทะเบียน…
ปัญหาเกี่ยวกับการใส่ลำนำในงานเขียน…
เรื่องจริง 10 ข้อเกี่ยวกับการเป็นนักเขียนขึ้นทะเบียน…
> เรื่องจริง 10 ข้อเกี่ยวกับการเป็นนักเขียนขึ้นทะเบียนที่ภาคีไม่ยอมบอก
1. เป็นนักเขียนขึ้นทะเบียนไม่ได้หมายความว่าเราจะเขียนอะไรเสร็จ
[กดออกจากบทความที่มุมขวาบน]